โครงการความสัมพันธ์ไทย-เซิร์นตามพระราชดำริ ฯ
ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เซิร์น เป็นชื่อย่อที่มาจากอักษรตัวแรกของชื่อเต็มที่เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Conseil Européen pour la Recherche Nucléaire (CERN) หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า European Council for Nuclear Research แปลเป็นไทยว่า ที่ประชุมแห่งยุโรปเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ โดยในปี พ.ศ. 2492 ลูอิส เดอ บรอยล์ (Louis de Broglie) นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสได้เสนอแนวความคิดริเริ่มของการก่อตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยแห่งยุโรป และในปี พ.ศ. 2495 ได้มีการลงนามร่วมกันจัดตั้งอย่างเป็นทางการโดย 11 ประเทศในยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นองค์กรระหว่างประเทศในยุโรปเพื่อการวิจัยฟิสิกส์พื้นฐานระดับโลก เซิร์นตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครอบคลุมพื้นที่บริเวณชายแดนระหว่าง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส อ่านต่อ
ALICE คือ อะไร
ALICE เป็นหนึ่งในการทดลองขนาดใหญ่ที่ตรวจจับอนุภาคและสสารที่เกิดขึ้นจากการชนกันของไอออนหนัก (heavy-ion) ในเครื่องชนอนุภาคฮาดรอนขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider, LHC) โดยจากการคำนวณทางทฤษฏีพบว่าขณะที่เกิดการชนกันของไออนหนัก จะมีโอกาสที่ทำให้เกิดภาวะที่พลังงานและความร้อนสูงมากเพียงพอ (อุณหภูมิสูงกว่า 100,000 เท่าของศูนย์กลางดวงอาทิตย์) ที่จะทำให้เกิด “สถานะพลาสมาของควาร์กและกลูออน” (quark-gluon plasma–QGP) โดยถือว่าควาร์กเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโปรตอนและนิวตรอน และกลูออน คือ อนุภาคยึดเหนี่ยวควาร์กเข้าไว้ด้วยกัน จากการคำนวณนักฟิสิกส์อนุภาคทำให้เชื่อกันว่า การชนของไอออนหนักดังกล่าวสามารถสร้างภาวะที่ใกล้เคียงกับการเกิดบิ๊กแบง (Big Bang) ซึ่งคาดว่าจะสามารถตอบคำถามสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องจุดกำเนิดของจักรวาลและการเกิดขึ้นของสสารชนิดต่าง ๆ ในระยะถัดมา
การตรวจจับอนุภาคและสสารที่เกิดขึ้นจากการชนกันของไอออนหนัก จะอาศัยเครื่อง ALICE detector ที่ยาว 26 เมตร กว้าง 16 เมตร และสูง 16 เมตร ซึ่งได้รับการติดตั้งอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินลึกลง 56 เมตร ในหมู่บ้าน St. Genis-Pouilly ประเทศฝรั่งเศส มีนักวิทยาศาสตร์กว่า 1,000 คน จากกว่า 100 สถาบัน ในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก รวมถึงนักวิทยาศาสตร์จากประเทศไทย ร่วมมือกันศึกษาผลการทดลองยิงอนุภาคหนักให้ชนกันดังกล่าว อ่านต่อ