resize การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 1/2561 - มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

เครดิตโดย : สํานักข่าวไทย Thaitv6

link original : คลิก 


       อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา: วันที่ 3 มกราคม 2561 เวลา 13.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการประชุมในวันนี้ เป็นการติดตามและพิจารณาความก้าวหน้าของโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมูลนิธิฯ รวมถึงพิจารณาแผนการดำเนินงานในปี 2561 รวม 10 โครงการ
     มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 โดยรับโอนโครงการและกิจกรรมที่แต่เดิมดำเนินการภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 นับเป็นระยะเวลา 20 ปี ที่โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ ได้ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านความร่วมมือกับต่างประเทศ รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนา โดยเน้นการพัฒนาขีดความสามารถ และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน ประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมต่อไป
     ในการทำงานมีคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน คณะกรรมการฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และแผนที่กำหนด และมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่ประสานงานในภาพรวมของโครงการและกิจกรรมที่ดำเนินงานภายใต้มูลนิธิฯ
     โครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ที่ดำเนินการภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มีรูปแบบการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านนการพัฒนากำลังคน (2) ด้านการวิจัย และ (3) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผู้ด้อยโอกาส
     ด้านการพัฒนากำลังคนและการวิจัย เช่น
     โครงการความร่วมมือไทย-เซิร์นตามพระราชดำริ เนื่องจากเซิร์นเป็นองค์กรวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแหล่งผลิตความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงในหลากหลายสาขา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงพระราชดำริให้เด็กไทยมีโอกาสไปร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรของเซิร์น โครงการฯ จึงได้ริเริ่มความร่วมมือกับเซิร์น เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทย ครูฟิสิกส์ นักศึกษา และนักเรียนได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน และปฏิบัติการวิจัยที่เซิร์น จนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับโอกาสดังกล่าว แล้ว รวม 148 คน (เป็นนักวิทยาศาสตร์ 40 คน นักเรียน ม ปลาย 65 คน นักศึกษาและครู 43 คน) รวมทั้งมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยหลายแห่งในประเทศไทยยังมีความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น ในปี 2560 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งมีความร่วมมือกับเซิร์นในเรื่องการประยุกต์ใช้เครื่องเร่งอนุภาค มีการวางแนวทางในการประยุกต์ใช้เครื่องเร่งอนุภาคเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนดังนี้ (1) พัฒนาความสามารถในการผลิตเครื่องเร่งอิเล็กตรอนทางตรง (linac : linear electron accelerator) ในประเทศไทย โดยให้หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยมาใช้ประโยชน์ได้ (2) พัฒนาเครื่องเร่งอิเล็กตรอนทางตรงเพื่อประยุกต์ใช้ในด้านเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น ทำยางยางพาราให้คงรูป และทำให้ผลไม้คงความสดอยู่ได้นาน เป็นต้น
     โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดําริ
     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ และทรงพระราชดําริว่าสนับสนุนให้นักวิจัยไทยได้เดินทางไปทํางานวิจัยที่ขั้วโลกใต้ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับสนองพระราชดําริดังกล่าว โดยมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่าง สวทช. และหน่วยงานขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ (Chinese Arctic and Antarctic Administration: CAA) มีการสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยเข้าร่วมกับคณะสํารวจทวีปแอนตาร์กติกของจีน ที่ผ่านมามีนักวิทยาศาสตรไทยร่วมเดินทางไปกับคณะสํารวจขั้วโลกใต้ภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริแล้ว ๘ คน นอกจากจะทรงสนับสนุนการวิจัยในบริเวณขั้วโลกใต้แล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารียังทรงพระราชดำริให้ประเทศไทยเข้าร่วมการศึกษาวิจัยขั้วโลกเหนือด้วย โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกกับมหาวิทยาลัยศูนย์สวาลบาร์ด (University Centre in Svalbard: UNIS)
     นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาการสงนิสิตนักศึกษามาไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และขั้วโลกในประเทศต่างๆ ปัจจุบันมีนักศึกษาได้รับทุน ก.พ. เดินทางไปศึกษาต่อในสาขาดังกล่าวจำนวน 2 คน และอยู่ระหว่างเตรียมการเดินทางจำนวน 1 คน
     วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผู้ด้อยโอกาส เช่น
     โครงการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในสถาบันเทคโนโลยีกําปงสปือ ราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นโครงการที่ สวทช. ร่วมกับกรมราชองครักษ์ และกองงานในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสถาบันเทคโนโลยีกําปงสปือ ราชอาณาจักรกัมพูชา เนื่องจากสถาบันเทคโนโลยีกําปงสปือ ตั้งอยู่ในชนบทที่ห่างไกล ถึงแม้ว่าจะมีสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่ผ่าน แต่ค่าไฟฟ้ามีราคา ค้อนข้างสูง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในอนาคต จึงจะใช้แนวคิดในการใช้แหล่งพลังงานทางเลือก โดยดําเนินการออกแบบและติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ งบประมาณได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (สนพ.) ประเทศไทย ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นี้ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้กิจกรรมทางการศึกษาดำเนินไปอย่างราบรื่น ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาวกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว และถ้าเยาวชนได้การศึกษาเล่าเรียนที่ดีแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อสังคมกัมพูชา และสังคมโลกสืบต่อไป
     โครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่ โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์ หรือ โรงเรียน หลัก 67 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์แก่โรงเรียนหลัก 67 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการฯ จึงได้ประสานงานกับ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร ให้ความช่วยเหลือด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนหลัก 67 โดยที่ผ่านมาได้มีการให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐานอาคารห้องปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ ด้านหลักสูตรในการเรียนการสอนปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ และด้านการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ ในภาพรวมของการดำเนินงานทั้ง 10 โครงการ จนถึงปี 2560 มีพันธมิตรที่ร่วมดำเนินโครงการ
     ในประเทศไทยประมาณ 32 หน่วยงาน และประเทศอื่นๆ อย่างน้อย 8 ประเทศ โดยมีผู้ได้รับการพัฒนา และ/หรือได้รับประโยชน์จากกิจกรรมของโครงการ ทั้งสิ้นรวมแล้วกว่า 6,000 คน

เกี่ยวกับมูลนิธิฯ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและสายพระเนตรอันยาวไกลของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในการที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของประชาชนโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม นำมาซึ่งการจัดตั้งเป็น"โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538

ดูทั้งหมด