resize ปี 2558 - มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

รางวัลออกแบบและการประยุกต์ใช้งานดีเด่น : โครงงานไอทีสวนผักออนไลน์ ๒ โรงเรียนพุทธโกศัยวิทยา

รางวัลออกแบบระบบดีเด่น : โครงงานระบบรดน้ำสนามหญ้าอัตโนมัติ โรงเรียนพระปริยัติศาสนาภิพัฒน์วัดเมืองราม

รางวัลสร้างสรรค์ระบบดีเด่น

1. โครงงานเครื่องวัดส่วนสูงอัตโนมัติ โรงเรียนวัดบุญยืน

2. โครงงานเครื่องสรงน้ำพระเจดีย์ธาตุอัตโนมัติ โรงเรียนร้องแหย่งวิทยาคม


รางวัลออกแบบและการประยุกต์ใช้งานดีเด่น

โครงงานไอทีสวนผักออนไลน์ ๒

คณะผู้จัดทำโครงงาน   

1. สามเณรนนท์วัฒน์ วุฒิคำ

2. สามเณรศุภวัฒน์ นันธิสม

3. สามเณรธวัชชัย ศรีวิชัย

อาจารย์ที่ปรึกษา     นายอนันต์ จินดาคำ

สถานที่ศึกษา          โรงเรียนพุทธโกศัยวิทยา

ที่มาและความสำคัญ

        โครงงาน “ไอทีสวนผักออนไลน์ ๒” เป็นโครงงานต่อเนื่องมีแนวคิดที่จะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีทางด้านต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมาใช้อำนวยความสะดวกในการทำเกษตรกรรมให้มากขึ้น จากการอภิปรายการทดลองในระยะแรก “ระบบไอทีสวนผักออนไลน์ ๑” พบว่า การทำงานของระบบประสบผลสำเร็จด้วยดี จึงเป็นผล ทำให้เกิดการต่อยอดในครั้งนี้ โดยย้ายพื้นที่ทำโครงงานมาที่แปลงผักของเกษตรกรจริงในชุมชนที่ บ้านนาจักร อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ และเพิ่มเติมระบบใส่ปุ๋ยอัตโนมัติ และระบบสั่งการทำงานผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หรืออินเตอร์เน็ต พร้อมระบบ IP Camera ติดตามการทำงาน เพื่อให้แน่ใจว่าระบบทำงานตรงตามเงื่อนไขและเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องเดินทางไปตรวจเช็คบนพื้นที่จริง

หลักการทำงาน

        โครงงาน ไอทีสวนผักออนไลน์ ๒ จะทำงานตามเวลาที่กำหนดคือ เวลา ๘.๐๐ นาฬิกา และเวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา โดย Sensor วัดความชื้นจะทำการตรวจวัดความชื้นในดินตรงจุดที่ติดตั้งไว้ เพื่อเป็นตัวแทนความชื้นของดินทั้งหมด จากนั้นตรวจสอบค่าความชื้นที่ได้ หากค่าที่วัดได้ตรงตามเงื่อนไข Gogo Board จะสั่งให้ระบบทำงานเปิดและปิดหัวจ่ายน้ำอัตโนมัติ กล่าวคือ "เมื่อเวลา ๘.๐๐ นาฬิกา และ ๑๗.๐๐ นาฬิกา หากค่าความชื้นในดินสูงอยู่แล้วก็ไม่ต้องรดน้ำให้แปลงเกษตร แต่ถ้าค่าความชื้นในดินต่ำ ให้รดน้ำแปลงเกษตร จนกว่าความชื้นในดินจะสูงเกินกว่าค่าที่ตั้งไว้ จึงหยุดการรดน้ำ" พร้อมกล้อง IP Camera ทำงานบันทึกการทำงานของระบบตามเวลาที่กำหนด เพื่อบันทึกประสิทธิภาพการทำงาน


รางวัลออกแบบระบบดีเด่น

โครงงานระบบรดน้ำสนามหญ้าอัตโนมัติ

คณะผู้จัดทำโครงงาน

1. สามเณรธวัชชัย กุลลาว

2. สามเณรดำเกิง ไกรไพบูล

3. สามเณรวรากร ติ๊บพรม

อาจารย์ที่ปรึกษา นายสุรชัย ฟองนันตา

สถานที่ศึกษา      โรงเรียนพระปริยัติศาสนาภิพัฒน์วัดเมืองราม

ที่มาและความสำคัญ

        โรงเรียนพระปริยัติศาสนาภิพัฒน์วัดเมืองราม โรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีสนามหญ้าและต้นไม้ดอก ไม้ประดับ จำนวนมากและดูแลไม่ทั่วถึงเพราะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กโดยที่ไม่มีค่าตอบแทนในการมาดูแลรักษา และโรงเรียนพระปริยัติศาสนาภิพัฒน์วัดเมืองราม ได้ตั้งอยู่ในวัดเมืองราม แล้วพระภิกษุสามเณรภายในวัดก็ไม่สามารถดูแลให้ทันกับเวลาในแต่ละวันได้ เพราะต้นไม้ต้องการน้ำ และอุณหภูมิที่สม่ำเสมอ ฉะนั้นระบบรดน้ำสนามหญ้า ช่วยในการประหยัดเวลา และทันเวลาในการรดน้ำต้นไม้และสนามหญ้าได้และยังให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ต้นไม้อีกด้วย ดังนั้น ผู้จัดทำโครงงานได้เกิดแนวคิดที่จะทำระบบรดน้ำสนามหญ้าขึ้นมา เพื่อให้เบาแรง แก่พระภิกษุภายในวัดและเกิดความอุดมสมบูรณ์แก่ต้นไม้และสนามหญ้าอีกด้วย

หลักการทำงาน

        โครงงานที่จัดทำนี้ถูกกำหนดให้ Gogo Board สั่งไฟฟ้าแก่ โซลินอยด์วาวล์ ให้จ่าย เพื่อทำการรดน้ำให้แก่สนามหญ้าของโรงเรียน เมื่อ Sensor วัดความชื้นตรวจวัดค่าได้ตามที่กำหนดและจะทำการรดน้ำจนกว่าความชื้นในดินจะมากจนถึงค่าที่ทำการป้อนไว้ในระบบ จึงหยุดจ่าย ทั้งนี้ การวางโปรแกรมได้แบ่งพื้นที่การรดน้ำออกเป็น ๓ ส่วน เพื่อให้การรดน้ำครอบคลุมพื้นที่ที่ต้องการมากยิ่งขึ้น


1. โครงงานเครื่องวัดส่วนสูงอัตโนมัติ

คณะผู้จัดทำโครงงาน

1. สามเณรอัครเดช ไชยฤทธิ์

2. สามเณรกฤตภาส สงกา

อาจารย์ที่ปรึกษา

นายเจษฎาภรณ์ ต๊ะติ๊บ

สถานที่ศึกษา โรงเรียนวัดบุญยืน

ที่มาและความสำคัญ

         จากการดำเนินการตรวจสุขภาพให้กับสามเณรนักเรียนซึ่งจะมีการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง โดยการวัดส่วนสูงในแต่ละครั้งจะใช้ครูฆราวาสเป็นผู้วัดส่วนสูงให้กับสามเณร ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนและบางทีอาจดูไม่เหมาะสม ดังนั้นทางโรงเรียนจึงได้จัดทำ โครงงานเครื่องวัดส่วนสูงอัตโนมัติ เพื่อให้ได้ค่าการวัดส่วนสูงมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์หาแนวทางการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของสามเณรนักเรียนได้อย่างถูกต้อง

หลักการทำงาน

        เมื่อนักเรียนสามเณรยืนตรงจุดที่เตรียมไว้ ให้ผู้ตรวจวัดกดปุ่มระดับชั้นเรียนของสามเณร จากนั้น "เซนเซอร์อินฟาเรต" จะทำการตรวจวัดและประมวลความสูง แล้วส่งข้อมูลไปที่ Gogo Board สั่งงานการทำงานของเซนเซอร์อินฟาเรต เพื่อวัดค่าความสูง จากนั้นจะประมวลผลออกมาในรูปของคุณภาพตามเกณฑ์ที่โรงเรียนตั้งไว้ ผ่านหลอดไฟสีต่าง เขียวและแดง หากแสดงสีแดงแสดงว่าไม่ผ่านเกณฑ์ความสูง ของช่วงชั้นที่เลือก แต่ถ้าแสดงสีเขียวแสดงว่า ส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี


รางวัลสร้างสรรค์ระบบดีเด่น

โครงงานเครื่องสรงน้ำพระเจดีย์ธาตุอัตโนมัติ

คณะผู้จัดทำโครงงาน

1. สามเณรพรชัย สามล้าน

2. สามเณรสุรัตน์ หอมคำ

3. สามเณรณัฐกิตย์ เชิงแก้ว

อาจารย์ที่ปรึกษา

พระพิพัฒน์ อภิวฑฒโน

สถานที่ศึกษา โรงเรียนร้องแหย่งวิทยาคม

ที่มาและความสำคัญ

         เนื่องจากองค์พระบรมธาตุ ส่วนใหญ่บรรจุอยู่ใต้ฐานพระเจดีย์ การสรงน้ำจึงกระทำโดยการราดน้ำไปบนองค์พระเจดีย์ เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นของที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นบริเวณรอบ องค์เจดีย์จึงนิยมทำกำแพงแก้วกั้นไว้เป็นบริเวณลาน (ข่วง) เจดีย์ บุคคลใดประสงค์จะเข้าไปที่ลานในกำแพงแก้ว เพื่อกราบไหว้บูชา หรือเข้าไปทำความสะอาด ถ้าสวมหมวกจะต้องถอดออก ถ้าสวมรองเท้าต้องถอดรองเท้า และที่ห้ามเข้าไปในบริเวณลานเจดีย์ คือ ผู้หญิง ถือว่าถ้าผู้หญิงเข้าไปจะทำให้เสียความศักดิ์สิทธิ์ เรื่องเขตหวงห้ามนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องพระธาตุเจดีย์กับสตรี แต่ยังมีการห้ามฆราวาสผู้ครองเรือนเข้าเขตสงฆ์ ซึ่งแม้แต่บุรุษก็ไม่สามารถเข้าได้

         จากปัญหาดังกล่าวผู้จัดทำ ได้มีแนวคิดที่จะสร้างเครื่องสรงน้ำพระธาตุอัตโนมัติขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ ในด้านจิตใจให้แก่คณะศรัทธาประชาชนทั่วไปที่ได้ไปกราบไหว้ สักการบูชาองค์พระธาตุเจดีย์ ไม่ให้ขัดต่อจารีตประเพณีในแต่ละท้องถิ่นตามข้อห้ามดังกล่าวที่เราได้พบเห็นตรงบริเวณองค์พระธาตุเจดีย์ และยังก่อให้เกิดความศรัทธามากยิ่งขึ้น

หลักการทำงาน

          เมื่อมีผู้ประสงค์จะสรงน้ำพระเจดีย์ธาตุรดน้ำลงบนพระเจดีย์ธาตุจำลอง น้ำจะไหลลงสู่ส่วนที่ทำการรองรับไว้ ซึ่งบริเวณดังกล่าวได้ติด Sensor ไว้ จากนั้น Sensor จะส่งข้อมูลไปยัง Gogo Board เพื่อสั่งให้ Relay จ่ายไฟแก่ปั้มน้ำปั้มน้ำขึ้นไปสู่ยอดพระเจดีย์ธาตุ และทำการสรงน้ำพระเจดีย์ธาตุพร้อม ๆ กับผู้มีจิตศรัทธาด้านล่าง