TH  |  EN

ความเป็นมา

ความเป็นมา

    กิจกรรมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดาจัดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 โดยมูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา (Foundation Lindau Nobelprizewinners Meeting at Lake Constance) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ได้รับรางวัลโนเบลกับเยาวชนและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยได้เชิญผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Laureate) นักศึกษาและนักวิจัยจากทั่วโลก เข้าร่วมการประชุมในช่วงระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยจัดขึ้นทุกปีหมุนเวียนไปตามสาขา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี และสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ และในปี ค.ศ. 2005 ซึ่งเป็น ปีไอน์สไตน์ได้จัดการประชุมขึ้นทั้งสามสาขาพร้อมกัน สำหรับสาขาเศรษฐศาสตร์จัดขึ้นทุก 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.2004

    สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอ่านวารสาร Deutschland เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 (https://www.magazine-germany.com/en/artikel-en/article/article/a-gathering-of-great-minds.html) พบว่ามีการประชุมนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา จึงทรงมีพระราชดำริว่าประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมในการประชุมนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระประสงค์ให้นิสิต นักศึกษา นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ของไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา เพื่อเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการ อีกทั้งได้มีโอกาสเรียนรู้ความ ก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ จากประสบการณ์จริงของนักวิจัย และ/หรือนักวิทยาศาสตร์ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลในอดีตจำนวนมาก ที่จะมานำเสนอผลงานในการประชุมดังกล่าว

    ในการดำเนินงาน สวทช. ประกาศรับสมัครและคัดเลือกนิสิต นักศึกษา นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในสาขาฟิสิกส์ เคมี และสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมการประชุมดังกล่าว ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยทำการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมร่วมกับผู้แทนสมาชิกคณะผู้ก่อตั้งการประชุม แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย

    ทั้งนี้ สวทช. ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจในการสนับสนุนผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา กับ สภาเพื่อการประชุมลินเดาของผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Council for the Lindau Laureate Meetings) และมูลนิธิ ผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา (Foundation Lindau Nobelprizewinners Meetings at Lake Constance) โดยลงนามใน Memorandum of Understanding (MoU) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2551 การลงนามใน MoU ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 และการลงนามใน MoU ครั้งที่ 3 เป็นระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2557 – 2560) โดยพิธีการลงนามจัดขึ้นในช่วงเวลาของการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา สาขาเคมี ปี 2556 ในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในการลงนามทั้งสามครั้ง

   ในปี 2553 มูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดาได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสภากิตติมศักดิ์ (สภาสูง) ของมูลนิธิฯ ณ หอประชุมอินเซลฮัลเล เมืองลินเดา สหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมนี ในพิธีเปิดการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2553

   ในปี 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 3 ให้แก่ เคาน์เตสเบตทีนา เบอร์ นาดอตต์ (Countess Bettina Bernadotte) และ ศาสตราจารย์ ดร.ว็อล์ฟกัง ชือเรอร์ (Dr. h.c. Wolfgang Schürer) ซึ่งเป็นผู้ร่วมผลักดันในการเพิ่มจำนวน นักวิทยาศาสตร์ไทยเข้าร่วมโครงการการประชุมนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา จากเริ่มต้นปี พ.ศ. 2551 ซึ่ง MoU กำหนดจำนวนนักวิทยาศาสตร์ไทยเข้าร่วมโครงการปีละ 3 คนเป็นปีละ 6 คน จนกระทั้งถึงปัจจุบัน

   รายละเอียดโครงการการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี