TH  |  EN

ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการ
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
นำนักวิจัยที่จะเดินทางไปปฏิบัติงาน และศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก
ณ ทวีปแอนตาร์กติก ประจำปี 2566 เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานพรก่อนออกเดินทาง

     วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน
ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นำนักวิจัยที่จะเดินทางไปปฏิบัติงาน และศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ณ ทวีปแอนตาร์กติก ประจำปี 2566 เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานพรก่อนออกเดินทาง

     สืบเนื่องจากโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีมีความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขั้วโลกด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ของจีน (Chinese Arctic and Antarctic Administration; CAA) และสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (Polar Research Institute of China; PRIC) และมีคณะกรรมการภาคีวิทยาศาสตร์ขั้วโลกแห่งประเทศไทย (Polar Science Consortium of Thailand; PSCT) รับผิดชอบในการวางแผนและติดตามดูแลการดำเนินงาน ที่ผ่านมามีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของประเทศไทยเดินทางไปศึกษาและทำวิจัยในขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ จำนวน 24 พระองค์/คน

     ในปี 2566 มูลนิธิฯ ร่วมกับคณะกรรมการภาคีวิทยาศาสตร์ขั้วโลกแห่งประเทศไทยดำเนินการคัดเลือกนักวิจัยไทยที่จะเดินทางไปศึกษาวิจัยร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกจีน ครั้งที่ ๓๗ หรือ CHINARE37 (37th Chinese Antarctic Research Expedition) ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ๒๕๖๗ โดยไปทำงานวิจัยที่สถานีวิจัยเกรทวอลล์ (Great Wall Station) จำนวน 2 คนคือ (1) รองศาสตราจารย์ ดร.ภศิชา ไชยแก้ว อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ (2) ดร.คมเคียว พิณพิมาย นักวิจัยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการความร่วมมือไอซ์คิวบ์ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีความร่วมมือกับศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาคไอซ์คิวบ์ของวิสคอนซิน (WIPAC) มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันในโครงการ หอสังเกตการณ์นิวตริโนไอซ์คิวบ์ (IceCube Neutrino Observatory)

     ในปี 2566 ทางWIPAC ได้พิจารณาคัดเลือกให้เรือโท ดร. ชนะ สินทรัพย์วโรดม อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมปฏิบัติงานขุดเจาะน้ำแข็ง ณ หอสังเกตการณ์นิวตริโนไอซ์คิวบ์ (the IceCube Neutrino Observatory; ICNO) ขั้วโลกใต้ ทวีปแอนตาร์กติกในฤดูกาล 2566 – 2567 (ค.ศ. 2023 – 2024)  โดยจะเดินทางออกจากประเทศไทยในต้นเดือนธันวาคม 2566 และ สดร. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินโครงการการสำรวจการตัดข้ามละติจูดด้วยช้างแวน
ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสดร. กับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (
PRIC) เพื่อศึกษาผลกระทบของรังสีคอสมิกต่อโลก โดยได้นำตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเครื่องตรวจวัดนิวตรอนเพื่อใช้ในการวิจัยชื่อว่า “ช้างแวน” (Changvan) ไปยังทวีปแอนตาร์กติกา

     ในปี 2566  ได้มีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Polar Research Institute; KOPRI) จะติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ “ช้างแวน” บนเรือตัดน้ำแข็งชื่อ Araon  ไปยัง สถานีจางโบโก (Jang Bogo station) ทวีปแอนตาร์กติก โดยมีนางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน นักวิจัยเดินทางไปกับช้างแวนเพื่อทำการสำรวจรังสีคอสมิกที่เดินทางตัดข้ามละติจูดต่าง ๆ ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 – มีนาคม 2567 โดยนักวิจัยจะออกเดินทางจากประเทศไทยในวันที่ 26 ธันวาคม 2566

     ดังนั้น มูลนิธิฯ ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตนำนักวิจัยที่จะเดินทางไปปฏิบัติงาน และศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ณ ทวีปแอนตาร์กติก ประจำปี 2566 จำนวน 4 คน พร้อมผู้บริหารและนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานพรก่อนออกเดินทาง รายชื่อนักวิจัยดังนี้

นักวิจัยที่จะเข้าร่วมวิจัยกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกจีน ณ สถานีวิจัยเกรทวอลล์ (Great Wall Station)

  1. รองศาสตราจารย์ ดร.ภศิชา ไชยแก้ว อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. ดร.คมเคียว พิณพิมาย นักวิจัยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นักวิจัยที่จะปฏิบัติงานขุดเจาะน้ำแข็ง ณ หอสังเกตการณ์นิวตริโนไอซ์คิวบ์ (ICNO)

  1. เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นักวิจัยที่จะนำตู้คอนเทนเนอร์ “ช้างแวน” เพื่อไปทำวิจัย ณ สถานีจางโบโก (Jang Bogo station)

  1. นางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน ผู้ช่วยวิจัย โครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกัมมันตรังสีในอวกาศทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง วช. – สวทช.

ภาพถ่ายพระราชทาน : https://psit.e-office.cloud/d/ae8955a0