TH  |  EN

ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการ
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
นำคณะผู้แทนประเทศสมาชิกการประชุมเรื่องวิทยาศาสตร์ขั้วโลก
ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Asian Forum for Polar Sciences: AFoPS)
เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลรายงานความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลกในอนาคต

     วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน
ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นำคณะผู้แทนประเทศสมาชิกการประชุมเรื่องวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Asian Forum for Polar Sciences: AFoPS) เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลรายงานความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลกในอนาคต

     สืบเนื่องจากโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีมีความร่วมมือกับนานาชาติในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขั้วโลกด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการรองรับสภาวะ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยประเทศไทยมีภาคีวิทยาศาสตร์ขั้วโลกประเทศไทย (Polar Science Consortium of Thailand; PSCT) รับผิดชอบในการวางแผนและติดตามดูแลการดำเนินงาน

    การประชุมเรื่องวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Asian Forum for Polar Sciences : AFoPS)  เป็นองค์กรเอกชน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2004 เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลกระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยภาคีวิทยาศาสตร์ขั้วโลกประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกการประชุมเรื่องวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย (AFoPS) ตั้งแต่ปี 2559 (ค.ศ. 2016) ปัจจุบัน AFoPS ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย และ ไทย โดยมีประเทศสังเกตการณ์ 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และเวียดนาม

    ในการประชุมทั่วไปของ AFOPS (AFOPS General Meeting) ในปี 2565 (ค.ศ. 2022) ที่ประชุมมีมติให้ประเทศไทย เป็นประธานของ AFoPS ในช่วงปี 2023-2024 มีหน้าที่คือ (1) จัดการประชุม 2 ครั้ง/ปี ให้กับประเทศสมาชิก AFOPS (AFoPS country members) และ (2) เป็นตัวแทนของ AFoPS ใน international meetings ต่างๆ ที่เกี่ยวกับ Arctic and Antarctic

    เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม AFoPS ในระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2566 นี้ มูลนิธิฯ ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตนำคณะผู้แทนประเทศสมาชิก AFoPS ที่เดินทางมาประชุมในประเทศไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิ ผู้บริหารและนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อกราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงาน และแนวทางการดำเนินความร่วมมือ รวมถึงบทบาทของ AFoPS ในการส่งเสริมความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลกในอนาคต