TH  |  EN

โครงการส่งเสริมการใช้ไอซีทีสร้างรายได้ ในกลุ่มโรงเรียน ทสรช.

    เนื่องจาก โรงเรียนในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท (ทสรช.) ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทำกิจกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านอาชีพ ให้นักเรียนสามารถประกอบอาชีพได้ และ/หรือ ส่งเสริมให้นักเรียนทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเป็นการฝึกอาชีพและจำหน่ายสินค้าเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ระหว่างเรียน พบว่า ส่วนใหญ่ช่องทางการจำหน่ายสินค้าดังกล่าว มักจำกัดเฉพาะพื้นที่ เช่น การออกบูธแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของนักเรียน การฝากขายกับร้านในตัวเมือง วางจำหน่ายที่ศูนย์โอทอป การรับผลิตสินค้าตามที่ลูกค้าสั่ง เป็นต้น

           ทั้งนี้ ในปี 2559 มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมดำเนินงาน“โครงการส่งเสริมการใช้ไอซีทีสร้างรายได้ ในกลุ่มโรงเรียน ทสรช.” ขึ้น เพื่อประยุกต์ใช้ไอซีทีในการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าของโรงเรียนหรือชุมชน สนับสนุนการทำธุรกิจออนไลน์ให้กับครู นักเรียน รวมถึงชุมชนในพื้นที่ ช่วยในการสร้างรายได้ให้แก่โรงเรียน และ/หรือนักเรียน ครอบครัว ชุมชน และเกิดการพัฒนาผู้เรียนด้านการทำธุรกิจออนไลน์ได้

            ผลการดำเนินงานในระยะที่ 1 (ปี 2559) ได้ดำเนินกิจกรรมนำร่องกับโรงเรียน 5 แห่ง โดยได้จัดอบรม ให้คำปรึกษาในพื้นที่ ส่งเสริมการโฆษณาสินค้าออนไลน์ และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง พบว่าครูและนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถสร้างร้านค้าออนไลน์ และมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ได้ ดังนั้น ในปี 2560 – 2561 จึงวางแผนขยายผลการดำเนินงานไปยังโรงเรียนต่างๆ ใน 4 ภูมิภาค โดยขยายเครือข่ายความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะประสานศูนย์ดิจิทัลชุมชน / ศูนย์ไอซีทีชุมชนในพื้นที่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ในการดำเนินงานโครงการ และคาดหวังว่าจะได้กรณีตัวอย่างการจัดกิจกรรมส่งเสริมการทำธุรกิจกิจออนไลน์ในโรงเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้กับโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป

            วัตถุประสงค์

   1. เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้ไอซีทีเพื่อช่วยสร้างรายได้ให้แก่โรงเรียน และ/หรือนักเรียน ครอบครัว และชุมชน ตามบริบทของโรงเรียนและพื้นที่

   2. พัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจออนไลน์

   3. ขยายผลการไปยังโรงเรียนที่มีความพร้อมในภูมิภาคต่างๆ จำนวน 2-3 ภูมิภาคๆ ละ 8-10 โรงเรียน

   4. จัดทำหลักสูตร หรือบทเรียน หรือกรณีตัวอย่างการจัดกิจกรรมส่งเสริมการทำธุรกิจกิจออนไลน์ในโรงเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการทำกิจกรรมให้กับโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป

            กลุ่มเป้าหมาย: โรงเรียน ทสรช. ในภูมิภาคต่างๆ ประมาณ 10-13 โรงเรียน ซึ่งเป็นที่มีความพร้อมดังนี้

   1. มีกิจกรรมการส่งเสริมด้านอาชีพ และส่งเสริมการผลิตสินค้าที่หลากหลายภายในโรงเรียนอยู่แล้ว

   2. ที่ตั้งของโรงเรียน ที่มีความเป็นไปได้ในการบริการขนส่งสินค้าจากโรงเรียนไปให้ลูกค้า(พิจารณาจากการมีบริษัทที่ให้บริการขนส่งสินค้าในพื้นที่ และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง)

   3. โรงเรียนมีการประสานการทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่

            กลุ่มเป้าหมาย : โรงเรียน ทสรช. เรือนจำ/ทัณฑสถาน และ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ภายใต้มูลนิธิฯ ที่มีความพร้อมดังนี้

   • มีกิจกรรมการส่งเสริมด้านอาชีพ และส่งเสริมการผลิตสินค้าที่หลากหลายภายในโรงเรียน เรือนจำ/ทัณฑสถาน และ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน อยู่แล้ว

   • ที่ตั้งของหน่วยงาน มีความเป็นไปได้ในการบริการขนส่งสินค้าจากโรงเรียนไปให้ลูกค้า (พิจารณาจากการมีบริษัทที่ให้บริการขนส่งสินค้าในพื้นที่ และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง)

   • โรงเรียนมีการประสานการทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่

            ระยะเวลาดำเนินงาน: ปี 2559 – 2566

   แผนการดำเนินงานภาพรวม

   โครงการฯ ได้กำหนด Maturity Model โดยได้ปักหมุดเป้าหมายในการพัฒนา ไว้ 4 ขั้น สำหรับ Maturity Model ดังกล่าวนี้ จะใช้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่ทำ e-Commerce เป็นการวัดผลการพัฒนาในแต่ละตอน โดยมูลนิธิฯ จะเริ่มทำโครงการใน Stage 2 & 3 ให้แก่ผู้ที่พร้อมในระหว่างปี 2563 – 2564 แต่ก็ยังคงพัฒนาคนที่เข้ามาใหม่ในกิจกรรมของ Stage 1 ได้ และจะยังไม่เปิดโปรแกรมของ Stage 4 จนกว่าจะผ่าน Stage 2 & 3 มาก่อน ดังนั้น Stage 4 อาจจะเริ่มในปี 2564 หรือ 2565 และเมื่อเริ่มเปิด Stage 4 แล้ว มูลนิธิฯ จะทำกิจกรรมสนับสนุนทั้ง Stage 1 – 4 แก่ผู้ที่ สมควรจะได้รับการพัฒนา

หมายเหตุ: หากสามารถดำเนินงานใน Stage 2 3 ผ่านได้ในปี 2563 ก็จะสามารถเริ่ม Stage 4 ได้ในปี 2564 และระยะเวลาในการดำเนินงานอาจจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

      Stage 1 : Basic e-Commerce มีคุณสมบัติดังนี้

   1. มีความรู้พื้นฐานด้านอีคอมเมิร์ซ

   2. สามารถสร้างเพจร้านค้าออนไลน์ จำหน่ายสินค้าออนไลน์ได้

   3. ผลิตสินค้าได้เอง และ/หรือนำสินค้าจากชุมชน มาจำหน่ายสินค้าออนไลน์ได้

   4. มียอดขายสินค้าออนไลน์อย่างน้อย 1,000 บาทต่อปี

      Stage 2: Product Improvement มีคุณสมบัติดังนี้

   1. ผ่านการดำเนินงานใน Stage 1 (Basic E-commerce)

   2. มีการผลิตสินค้าในโรงเรียน (เรือนจำ/ทัณฑสถาน/สถานพินิจ) และสามารถพัฒนาให้เป็นสินค้า Premium ได้

   3. มีบุคลากรในการดำเนินงานทั้งด้านการผลิต และด้านการขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ

   4. มีทิศทางการผลิตและการตลาดที่ชัดเจน

   5. มีแหล่งชุมชนและเครือข่าย ที่สามารถทำงานร่วมกันในการผลิตสินค้าได้ (มีหรือไม่มีก็ได้)

   6. มียอดจำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่างน้อย 50,000 บาทต่อปี

      Stage 3: Process Improvement มีคุณสมบัติดังนี้

   1. ผ่านการดำเนินงานใน Stage 1 (Basic E-commerce)

   2. มีการผลิตสินค้าในโรงเรียน (เรือนจำ/ทัณฑสถาน/สถานพินิจ) และ/หรือ สามารถนำสินค้าจากชุมชนมาจำหน่ายด้วยระบบอีคอมเมิร์ซได้

   3. มีบุคลากรในการดำเนินงานด้านอีคอมเมิร์ซ และ/หรือ บุคลากรดำเนินงานด้านการผลิตสินค้า

   4. มีทิศทางการผลิตและการตลาดที่ชัดเจน

   5. มีแหล่งชุมชนที่สามารถทำงานร่วมกัน (กรณีที่เป็นโรงเรียน)

   6. มีความสามารถปรับกระบวนการทำงานให้สะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ หรือลดความซ้ำซ้อน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

   7. มีความรู้พื้นฐานด้านการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) สามารถรู้กระบวนการทำธุรกิจเบื้องต้น

   8. มียอดจำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่างน้อย 50,000 บาทต่อปี

      Stage 4: Full e-Commerce มีคุณสมบัติดังนี้

   1. ผ่านการดำเนินงานใน Stage 1 2 และ 3 (กรณีที่ไม่เน้นการผลิต ให้ผ่านการดำเนินงานใน Stage 1 และ 3)

   2. มีบุคลากรในการดำเนินงาน ด้านอีคอมเมิร์ซ และ/หรือ บุคลากรดำเนินงานด้านการผลิตสินค้า

   3. ความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) สามารถรู้กระบวนการทำธุรกิจทั้งระบบ

   4. มี Ecosystem ที่เป็นเครือข่ายชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ส่งเสริมการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

   5. มีความพร้อมในการเตรียมส่งออก และ/หรือ การผลิตตั้งแต่ระดับ SME ขึ้นไป

   6. เปิดสอน E-commerce ในโรงเรียน ให้อยู่ในวิชาอีคอมเมิร์ซ หรือ วิชาชุนนุม หรือเป็นเนื้อหาอยู่ในวิชาใดวิชาหนึ่ง (กรณีในเรือนจำ / ทัณฑสถาน / สถานพินิจ ให้มีการเปิดสอนหลักสูตรอีคอมเมิร์ซให้กับผู้ต้องขัง เด็กและเยาวชนในสถานพินิจ )

   7. มียอดจำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่างน้อย 100,000 บาทต่อปี

      ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับ

   1. บุคลกรในโครงการมีความรู้พื้นฐานด้านสมรรถนะอีคอมเมิร์ซ

   2. บุคลกรในโครงการสามารถจำหน่ายสินค้าออนไลน์ และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าออนไลน์

   3. บุคลกรในโครงการความรู้ในการทำธุรกิจออนไลน์ สามารถพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้า และพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นได้

   4. มีเนื้อหาบทเรียน / กรณีตัวย่างการจัดกิจกรรม e-commerce ที่สามารถเป็นตัวอย่างเผยแพร่ในวงกว้างได้

   5. มีเครือข่ายร่วมดำเนินงาน ที่หลากหลายเพื่อช่วยเหลือ/สนับสนุนโรงเรียน หน่วยงานในโครงการ และ/หรือ ชุมชนในพื้นที่ได้

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 
คุณเสาวดี คล้ายโสม
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์: 092-3633556, 02-5647000 ต่อ 81814
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ : saowadee@nstda.or.th