TH  |  EN

โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ราชอาณาจักรกัมพูชา

 

“ข้าพเจ้ารู้สึกพอใจที่โรงเรียนกำปงเฌอเตียลได้ทำงานมาได้ระยะหนึ่งกรรมการทั้งสองฝ่ายดำเนินการมาอย่างเป็นที่น่าพอใจ ความต้องการของข้าพเจ้าก็คือ ต้องการมีส่วนร่วมในการให้การศึกษาเยาวชนกัมพูชาซึ่งเป็นเยาวชนที่มีศักยภาพเป็นอย่างดี และถ้าได้การศึกษาเล่าเรียนและฝึกอบรมที่ดีแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อสังคมกัมพูชา และสังคมโลกสืบไป”

พระราชดำรัส ที่พระราชทานไว้แก่คณะกรรมการดำเนินการคณะกรรมการดำเนินการ

โครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ด้านการศึกษา

ฝ่ายไทยและกัมพูชา

วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2548

ณ ห้องประชุมกรมราชองครักษ์ สวนจิตรลดา

ด้วยสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทย-กัมพูชา และความสนพระราชหฤทัยในอารยธรรมเขมร เป็นเหตุให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาหลายครั้ง ทุกครั้งชาวกัมพูชาจะรอเฝ้ารับเสด็จด้วยอัธยาศัยอันดียิ่ง ทำให้พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะตอบแทนน้ำใจไมตรีจิตของชาวกัมพูชา ด้วยการพระราชทานสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนอันได้แก่ “การศึกษา”

วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ตั้งอยู่ในอำเภอปราสาทซ็อมโบร์ จังหวัดกำปงธม ประเทศกัมพูชา โดยสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรี ได้สนองแนวพระราชดำริ น้อมเกล้า ฯ ถวายที่ดินบริเวณใจกลางประเทศจำนวน 45 ไร่ (ต่อมาได้ขยายเป็น 117 ไร่) เป็นพื้นที่ก่อสร้าง

วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 โดยเปิดสอนทั้งสายสามัญ (เกรด 7 – 12) และสายอาชีวศึกษา (เกรด 10 – 12) จำนวน 4 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาไฟฟ้า สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชากสิกรรม และสาขาวิชาปศุสัตว์ โดยปัจจุบันมีนักเรียนมากกว่า 1,500 คน การดำเนินงานเน้นความ สำคัญ 6 ด้าน ดังนี้

1. ให้ยึดหลักสูตรของกัมพูชาเป็นหลักและเพิ่มเติมสิ่งใหม่ที่เป็น

2. ในอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวในกัมพูชามากขึ้น ภาษาไทยและภาษาอังกฤษจึงน่าจะเป็นภาษาที่นำมาสอนในโรงเรียนได้ เพราะจะช่วยในการค้นคว้าและประกอบอาชีพ

3. โภชนาการที่ดี จะทำให้สุขภาพอนามัยดี สติปัญญาและการเรียนของนักเรียนก็จะดีตามไปด้วย

4. ควรปลูกฝังให้นักเรียนและชุมชนมีจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้รู้จักรัก หวงแหนป่าและต้นไม้ นำไปสู่การรักและหวงแหนประเทศชาติในที่สุด

5. นักเรียนควรรู้จักหวงแหนและอนุรักษ์ไว้ และควรมีความรู้ความสามารถในการบรรยายให้นักท่องเที่ยวฟังได้ และจะเป็นรายได้ให้กับชุมชน

6. ให้ใช้หลักการสหกรณ์เป็นเครื่องมือในการฝึกการบริหารและการจัดการ ฝึกการบันทึกรายรับ – รายจ่าย

การติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ใน วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ราชอาณาจักรกัมพูชา

         ด้วยพื้นที่ที่วิทยาลัยกำปงเฌอเตียลตั้งอยู่นั้นยังไม่มีทั้งไฟฟ้าและน้ำประปาวิทยาลัยจึงต้องพึ่งพาน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้า ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริว่า ควรหาวิธีบริหารพลังงานในวิทยาลัยที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ

กรมราชองครักษ์จึงได้ปรึกษาหารือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อดำเนินการ สำรวจการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยการติดมิเตอร์ที่วิทยาลัย และส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าผ่านอินเทอร์เน็ตมายังประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ

ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ เนคเทค ได้ติดตั้งมิเตอร์ เพื่อวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าของวิทยาลัยกำปงเฌอเตียทั้งหมด 10 โซน

สวทช. ได้ติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 126 kWp โดยแบ่งเป็นระบบแรก 70 kWp (56%) เพื่อนำไฟฟ้านำไปใช้ในเวลากลางวันโดยตรง และระบบย่อยที่สอง 56 kWp (44%) เพื่อเก็บไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่สำหรับใช้ในเวลากลางคืน หากช่วงเวลาใดมีการใช้ไฟฟ้าเกินกำลังที่เซลล์แสงอาทิตย์ผลิตได้ ระบบจะสั่งให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซลทำงานเสริมเพื่อให้มีไฟฟ้าใช้เพียงพอกับความต้องการ

ทั้งนี้ สวทช. ยังเพิ่มระบบติดตามสภาพการทำงานแบบเวลาจริงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สามารถควบคุม และดูแลระบบได้จากระยะไกล

ปัจจุบันผู้บริหาร ครู บุคลากรและนักเรียนของวิทยาลัยกำปงเฌอเตียลกว่า 1,500 คน ได้รับประโยชน์จากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้กิจกรรมทางการศึกษาดำเนินไปอย่างราบรื่น และยังสามารถดูแลและบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ได้ด้วยตนเอง เนื่องจากมีการสอนเรื่องนี้ในหลักสูตรอีกทั้งยังมีการอบรมทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การออกแบบ การใช้งานและการบำรุงรักษา เป็นต้น