TH  |  EN

โครงการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่โรงเรียน ตชด. บ้านเทพภูเงิน
จ.อุดรธานี ตามพระราชดำริฯ

 

   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ ๒ /๒๕๖๑

 เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ว่าโรงเรียน ตชด. บ้านเทพภูเงิน จ.อุดรธานี มีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนยากำจัดศัตรูพืชจากสวนยางพารา ทำให้โรงเรียนจำเป็นต้องซื้อน้ำขวดรับประทาน มูลนิธิฯ ควรหาทางให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ จึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวของเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยที่ผ่านมามีการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมีการติดตามตรวจเยี่ยมโรงเรียนเพื่อรับทราบปัญหาไปแล้วจำนวน ๗ ครั้ง

 

ข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเทพภูเงิน จังหวัดอุดรธานี

ข้อมูลทั่วไป
• จำนวนครู นักเรียน ทั้งหมด ๖๕ คน
• จำนวนชุมชนใกล้เคียงมี ๗๕ หลังคาเรือน
ปัญหาของแหล่งน้ำ
• น้ำฝน : ภาชนะเก็บน้ำฝนไม่เพียงพอ ถังเก็บน้ำฝนเดิมที่มี ชำรุด มีรอยรั่ว และไม่ได้ทำความสะอาด
• น้ำผิวดิน : มีความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนยากำจัดศัตรูพืชจากสวนยางพารา (พาราควอท และไกลโฟเซต)
• น้ำใต้ดิน : ปิดบ่อบาดาลแล้ว เนื่องจากบ่อบาดาลเดิมน้ำที่ได้มีปริมาณน้อย น้ำมีสีแดง และมีกลิ่นสนิม
ผลการดำเนินงานน้ำอุปโภคและบริโภค ระยะที่ ๑ – ๓ (ระยะเร่งด่วน และ ระยะสั้น)

๑) แหล่งน้ำบาดาลใช้อุปโภคและบริโภค (ดำเนินการโดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล งบประมาณจำนวน ๗๐๙,๓๔๕ บาท) โรงเรียนมีแหล่งน้ำบาดาล เพื่อใช้ในการอุปโภค และบริโภคเพียงพอแล้ว ซึ่งสามารถผลิตน้ำได้เพียงพอต่อความต้องการของโรงเรียน และชุมชน ที่มีความต้องการใช้น้ำในการอุปโภค และบริโภค โดยประมาณ ๓ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๒ นอกจากครูและนักเรียน โรงเรียน ตชด. บ้านเทพภูเงินจะได้รับน้ำบาดาลเพื่อใช้อุปโภคและบริโภคแล้ว ยังมีครัวเรือนที่อยู่ใกล้เคียงจำนวน ๒๐ ครัวเรือนได้รับน้ำบาดาลไปใช้โดย อบต.เทพภูเงิน ข้ามาทำท่อประปาและติดตั้งมิเตอร์ขายน้ำ ๕ บาท/ ๑ ลบ.ม.(๑,๐๐๐ ลิตร) เพื่อนำไปให้โรงเรียนดูแลรักษาบ่อน้ำบาดาลต่อไป

บ่อบาดาล
• บ่อน้ำบาดาลลึกพัฒนา ๕๗ เมตร ปริมาณน้ำ ๓๐ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ระดับน้ำปกติ ๑๐ เมตร
• ติดตั้งสูบน้ำเครื่องชนิดมอเตอร์จุ่มใต้น้ำ ขนาด ๒.๐ แรงม้า พร้อมแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ๑๐ แผง กำลังไฟฟ้า ๓๐๐๐ วัตต์ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ให้กำลังไฟฟ้าแบบต่อเนื่อง ขนาด ๕.๐ กิโลวัตต์
• ระบบประปาบาดาล ขนาด ๑๒ ลบ.ม ประกอบด้วย หอถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาดความจุน้ำ ๑๒ ลบ.ม ความสูง ๑๒.๖๐ เมตร ถังกรองสนิมเหล็กระบบ Pressure Multimedia Filter กรองน้ำได้ ๗ ลบ.ม ระบบควบคุมเครื่องสูบน้ำด้วยอุปกรณ์วัดระดับน้ำแบบอัตโนมัติ ท่อพีวีชีระบบประปาสำหรับใช้เป็นท่อน้ำดื่ม

๒) แหล่งน้ำดื่มของโรงเรียน ตชด. เทพภูเงิน ที่ผ่านระบบประปาสำเร็จรูป (ดำเนินการโดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล) ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒ โรงเรียนสามารถผลิตน้ำดื่มสะอาดใช้ภายในโรงเรียนผ่านระบบประปาสำเร็จรูป ระบบเป็นระบบบำบัดน้ำ UF กำลังผลิต ๒๕๐ ลิตร/ชั่วโมง ชาวบ้านสามารถนำถังน้ำ ๒๐ ลิตร มากรอกน้ำได้ โดยชุมชนร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำ เก็บค่าน้ำ ๒๐ ลิตร/๕ บาท อาคารบ้านน้ำดื่มระบบ Ultra Filtration (UF) พร้อมแผงพลังงานแสงอาทิตย์
• มีแบตเตอรี่สำรองไฟ อาคาร ขนาดกว้าง ๒.๓๐ เมตร x ยาว ๒.๓๐ เมตร x สูง ๓.๐๐ เมตร หลังคาเมทัลชีท ติดตั้งบนพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กรอบอาคาร ขนาด ๔.๓๐ x๔.๓๐ x ๐.๑๕ เมตร
• ติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาล (UF) กำลังการผลิต ๒๕๐ ลิตรต่อชั่วโมง
• ติดตั้งมิเตอร์น้ำขนาด ๑ นิ้ว พร้อมชุดแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลัง ๑,๓๒๐ วัตต์ พร้อมระบบควบคุมและแบตเตอรี่ เชื่อมท่อเมนส่งน้ำ โดยเชื่อมต่อระหว่างท่อเมนของระบบประปาบาดาลกับท่อน้ำเข้าสู่ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำฯ ระยะที่ ๔ (การดำเนินงานระยะยาว)

โครงการสมุนไพรรักษ์น้ำ Herbs for Healthy Water (จัดทำโดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. ได้รับงบประมาณจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.))

วัตถุประสงค์เพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมในการดูแลแหล่งต้นน้ำชุมชน ให้สะอาดปราศจากสารปราบศัตรูพืช เพื่อใช้เป็นน้ำบริโภคของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านเทพภูเงิน และเพื่อวิจัยและพัฒนารูปแบบการใช้วิทยาศาสตร์ในการจัดการการปลูกสมุนไพรปลอดภัยครบวงจร ได้แก่ ขมิ้น เป็นไม้ชั้นล่างในสวนยางพารา ปกคลุมหน้าดิน ลดการเจริญของวัชพืชผิวดิน และการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างรายได้ และแรงจูงใจในการทำเกษตรแบบปลอดภัย

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (โลโก้ ตามไฟล์แนบ)


๑. มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี


๒. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)


๓. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช.


๔. ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช.


๕. ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.


๖. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
๗. กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
๘. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี


๙. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
๑๐. การประปาส่วนภูมิภาค
๑๑. ชุมชนบ้านเทพภูเงิน


๑๒. กรมอนามัย