TH  |  EN

ผลการดำเนินงานปี 2561 โครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชดำริ

ผลการดำเนินงานปี ๒๕๖๑ โครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562

    ห้องประชุมชั้น 1 ตึกหอสมุดส่วนพระองค์วังสระปทุม:  วันที่ 12 มีนาคม 2562 เวลา 9.00 น.  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  โดยการประชุมในวันนี้ เป็นการติดตามและพิจารณาความก้าวหน้าของโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมูลนิธิฯ รวมถึงพิจารณาแผนการดำเนินงานในปี 2562 รวม 10 โครงการ
        มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านความร่วมมือกับต่างประเทศ รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนา โดยเน้นการพัฒนาขีดความสามารถ และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน ประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมต่อไป
ในการทำงานมีคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี   ทรงเป็นประธานคณะกรรมการฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และแผนที่กำหนด และมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่ประสานงานในภาพรวมของโครงการและกิจกรรมที่ดำเนินงานภายใต้มูลนิธิฯ 
โครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ที่ดำเนินการภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มีรูปแบบการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการพัฒนากำลังคน  (2) ด้านการวิจัย  และ (3) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิต
        ด้านการพัฒนากำลังคนและการวิจัย ในปีที่ผ่านมา (2561) มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ และครูวิทยาศาสตร์  มีโอกาสไปเข้าร่วมกิจกรรมการอบรม สัมมนา และฝึกปฏิบัติการวิจัยในสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้แก่ เซิร์น, เดซี, GSI/FAIR, การประชุมนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่ลินเดา, การประชุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ระดับโลก (Global Young Scientists Summit: GYSS) รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 20 คน
        นอกจากนี้ มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยหลายแห่งในประเทศไทยได้มีความร่วมมือในด้านต่างๆ กับสถาบันวิจัยของต่างประเทศ ดังที่ได้กล่าวข้างต้น เช่น ในปี 2561 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งมีความร่วมมือกับเซิร์นในเรื่องการประยุกต์ใช้เครื่องเร่งอนุภาค มีการวางแนวทางในการประยุกต์ใช้เครื่องเร่งอนุภาคเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนี้  (1) พัฒนาความสามารถในการผลิตเครื่องเร่งอิเล็กตรอนทางตรง (linac : linear electron accelerator) ในประเทศไทย โดยให้หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยมาใช้ประโยชน์ได้ (2) พัฒนาเครื่องเร่งอิเล็กตรอนทางตรงเพื่อประยุกต์ใช้ในด้านเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น ทำยางยางพาราให้คงรูป และทำให้ผลไม้คงความสดอยู่ได้นาน เป็นต้น

ตัวอย่างความร่วมมือวิจัยที่น่าสนใจ
        มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (SLRI) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (โดย TMEC) ได้เข้าร่วมโครงการวิจัยเรื่อง การปรับปรุงระบบ ITS (Inner Tracking System) และระบบคอมพิวเตอร์แบบ Online-Offline (O2) กับหน่วยวิจัย ALICE ในเซิร์น ซึ่งนักวิจัยจากประเทศไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาหาวัสดุที่เหมาะสมในการผลิตเซนเซอร์ที่มีขนาดพิกเซลขนาด 28 x 28 ไมโครเมตร และมีความบาง เพียง 50 ไมโครเมตร ร่วมทดสอบการทำงานและวัดประสิทธิภาพของเซนเซอร์ต้นแบบโดยใช้ลำอิเล็กตรอน ทำการจำลองสถานการณ์การวัดอนุภาคที่สนใจ ออกแบบและทดสอบระบบควบคุมการรับส่งข้อมูลของหัววัดเข้ากับระบบประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ เพื่อการปรับปรุงระบบ ITS ในหน่วยวิจัย ALICE ของเซิร์น
        สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  สร้างเครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ฝีมือคนไทยเพื่อรองรับโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ (Cherenkov Telescope Array: CTA)  ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ระดับโลก โครงการ CTA เป็นโครงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่จะสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยค้นหาคำตอบของจักรวาลจากการค้นพบทางฟิสิกส์อนุภาคที่ยิ่งใหญ่ บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ของไทย อาทิ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรและช่างเทคนิค จะได้ทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรระดับโลก นอกจากนี้การค้นคว้าวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงดังกล่าวยังนำไปสู่การสร้างและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ด้วยโจทย์ที่ท้าทายที่สุดในจักรวาล ซึ่งอาจกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหรือเป็นวิศวกรสร้างสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกผู้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
        ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต มีตัวอย่างโครงการ อาทิเช่น โครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่ โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์ หรือโรงเรียนหลัก 67 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มูลนิธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์แก่โรงเรียนหลัก 67 โดยได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร ให้ความช่วยเหลือด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนหลัก 67 โดยในปีที่ผ่านมา ได้มีการให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐานอาคารห้องปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ ด้านหลักสูตรในการเรียนการสอนปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ และด้านการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันเริ่มมีการเรียนการสอนปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนในทุกชั้นปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ปัจจุบันมีนักเรียนได้เรียนปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาต้อนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 1,400 คน

        ภาพรวมของการดำเนินงานทั้ง 10 โครงการ จนถึงปี 2562  มีพันธมิตรที่ร่วมดำเนินโครงการในประเทศไทยประมาณ 35 หน่วยงาน และประเทศอื่นๆ อย่างน้อย 8 ประเทศ โดยมีผู้ได้รับการพัฒนา และ/หรือได้รับประโยชน์จากกิจกรรมของโครงการ ทั้งสิ้นรวมแล้วกว่า 6,500 คน

วาระDocumentsPresent
3.1 โครงการความร่วมมือไทย – GSI/FAIR ตามพระราชดำริฯDownloadDownload
3.2 โครงการไทย-เดซีเพื่อพัฒนากำลังคนและการวิจัยพัฒนาDownloadDownload
3.3 โครงการความสัมพันธ์ไทย-เซิร์นตามพระราชดำริDownloadDownload
3.4 โครงการความร่วมมือกับสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) เพื่อพัฒนากำลังคนและการวิจัยพัฒนาDownloadDownload
3.5.1 การประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีDownloadDownload
3.5.2 การประชุม Global Young Scientists Summit: GYSS ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์DownloadDownload
3.6 โครงการคัดเลือกนักศึกษาทุนพระราชทานDownloadDownload
3.7.1 โครงการวิจัยขั้วโลกใต้ตามพระราชดำริฯDownloadDownload
3.7.2 ความร่วมมือขั้วโลกเหนือกับประเทศนอร์เวย์ ตามพระราชดำริฯDownloadDownload
3.8 โครงการภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering Consortium)DownloadDownload
3.9 โครงการพระราชทานความช่วยเหลือให้แก่โรงเรียนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์ (หลัก ๖๗)DownloadDownload
3.10 โครงการความร่วมมือกับจูลิช (JÜLICH) ตามพระราชดำริDownloadDownload