ความเป็นมา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงตระหนักถึงระโยชน์และศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ให้ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เพื่อการเรียนรู้ และการประกอบอาชีพ เพื่อโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

ดังนั้น โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจึงได้เริ่มดำเนินงานใน พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่มุ่งพัฒนากลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ได้แก่ เด็กจากโรงเรียนในชนบท เด็กป่วยในโรงพยาบาล ผู้พิการ ผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถาน และเยาวชนในสถานพินิจ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานโครงการฯ พระราชทานแนวพระราชดำริ แนวทางการดำเนินงาน และทรงติดตามงานในโครงการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนและบุคลากรในทุกระดับ ให้มีโอกาสได้ไปเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การดูงาน replicas de relojes การเข้ารับการอบรม การทำวิจัย ตลอดจนการศึกษาต่อในระดับสูงตามศักยภาพและความสนใจของแต่ละคนเพื่อจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ กลับมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป

เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุ  ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ นี้ คณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ โดย สวทช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ จึงมีดำริที่จะจัดงานสัมมนาและนิทรรศการ
“๖๐ พรรษา รัตนราชสุดา วิทยาปริทรรศน์” ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ ตลอดจนผลงานที่เป็นรูปธรรมของโครงการ อันเป็นผลจากการดำเนินงานในช่วง ๑๙ ปีที่ผ่านมา อีกทั้งเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ระหว่างหน่วยงานที่ร่วมกิจกรรมในโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำแนวทางและประสบการณ์จากโครงการนี้ไปปฏิบัติ รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่ควรมีบทบาทในการนำแนวพระราชดำริไปขยายผลต่อไป

วัตถุประสงค์
เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีต่อวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย และเพื่อให้มีเวทีในการนำเสนอผลงาน เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ ประสบการณ์ ระหว่างนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมโครงการ

รูปแบบการจัดงาน
๑. การสัมมนาเชิงวิชาการ การประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop)
๒. นิทรรศการเพื่อแสดงผลงานของหน่วยงานที่ร่วมโครงการฯ
๓. การนำเสนอผลงานที่เป็นรูปธรรมต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาการศึกษาแก่เด็กนักเรียนในชนบท การพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตของผู้พิการ การพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมนันทนาการแก่เด็กป่วยในโรงพยาบาล และการพัฒนาการศึกษาวิชาชีพแก่ผู้ต้องขังตลอดจนเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

กลุ่มเป้าหมาย
รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑,๐๐๐ คน ประกอบด้วย บุคลกรของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษา
และผู้สนใจด้านการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วไป